บทความ ด้านการบริหารงานและพัฒนาองค์กร จาก www.bctd.co.th
   

 

 

  พนักงานอายุงานมากขึ้น ทำงานเหมือนๆเดิม แต่เงินเดือนต้องขึ้นทุกปี ต้องบริหารยังไง

หลายๆบริษัทโดยเฉพาะองค์กรที่มีอายุองค์กรหลายปีมักมีพนักงานหลายตำแหน่ง ที่ยังต้องอยู่ในตำแหน่งเดิมเนื่องจากไม่มี Career Path หรือหรือมีแต่ขึ้นยศ เพราะไม่มีตำแหน่งจริงๆให้ขึ้นไป หรือความสามารถพนักงานไม่ถึงไม่สามารถโปรโมทได้ ทำให้พนักงานกลุ่มนี้ทำงานหน้าที่เดิมๆ แต่บริษัทก็ยังต้องขึ้นเงินเดือนให้ทุกปีทุกปี เราจะวางระบบบริหารจัดการยังไงได้บ้าง
-----------------------------
1.การที่พนักงานทำแต่ Job เดิมๆ ไม่ได้สร้างคุณค่าเพิ่มให้บริษัท ไม่ใช่เป็นความผิดของพนักงาน เป็นหน้าที่ของผู้บริหารและ hr ที่ต้องวางโจทย์การทำงานให้สอดคล้องกับอายุงานยศและตำแหน่งหรือการเติบโตและเงินที่ต้องเพิ่มทุกปีทุกปี
2.ถ้าปล่อยให้มีพนักงานในตำแหน่งที่เราต้องเพิ่มเงินเดือนทุกปี แต่ไม่สามารถสร้างคุณค่าเพิ่มได้เยอะ นั่นคือผลเสียที่จะเกิดกับองค์กรในการบริหารความคุ้มค่าในการจ้างพนักงาน
3.การวาง Career Path ไม่ใช่แค่วางเฉพาะเส้นทางของตำแหน่ง ว่าจะเติบโตไปในยศหรือตำแหน่งใดเท่านั้น ต้องมีการวางหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละยศแต่ละตำแหน่ง ที่เติบโตขึ้นด้วย
4.ต้องตีโจทย์ทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อนว่าการสร้างคุณค่าเพิ่มให้บริษัทของแต่ละตำแหน่งงาน สะท้อนด้วยเกณฑ์อะไร คุณภาพประสิทธิภาพ ปริมาณงานหรือปริมาณหน้าที่รับผิดชอบ หรือชนิดงานที่ทำได้เพิ่มขึ้น หรือการสร้าง คุณค่าเพิ่มในสินค้าบริการ หรือการพัฒนาทำงาน หรือนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นต่อองค์กร
5.สิ่งสำคัญคือการสร้างคุณค่าเพิ่มที่กล่าวมา สอดคล้องกับเงินที่ต้องเพิ่มให้พนักงานในแต่ละปีหรือไม่ เพราะถ้าไม่สอดคล้อง จะกลายเป็นเพิ่มคุณภาพประสิทธิภาพได้เล็กน้อย แต่เงินเดือนต้องขึ้นทุกปีทุกปีโดยไม่สมเหตุผล
6.ถ้าบริษัทมีแนวทางที่จะไม่ขึ้นเงินให้กับพนักงานที่ไม่มีคุณค่าเพิ่มในแต่ละปี ก็ต้องเตรียมรองรับผลที่อาจตามมา ว่าหากเราไม่สามารถรักษาพนักงานกลุ่มนี้ไว้ได้บริษัทยอมรับได้หรือไม่ ถ้ายอมรับได้ก็ไม่เป็นไร ขึ้นกับบริษัท
7.หัวใจสำคัญในการวางระบบรองรับเรื่องนี้ให้ยั่งยืน คือการวางหน้าที่ความรับผิดชอบให้สอดคล้องกับอายุงานที่เพิ่มขึ้นประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น ให้คุณค่าของสิ่งที่ทำให้บริษัทสมเหตุสมผลกับที่บริษัทต้องเพิ่มเงินเดือนทุกปีทุกปี
8.เวลาพนักงานขึ้นตำแหน่งที่สูงขึ้น มักจะไม่มีประเด็นในเรื่องนี้ แต่จะเกิดปัญหาเรื่องนี้มากในพนักงานที่ขึ้นยศ ขึ้นอาวุโสต่างๆแต่ทำงานแทบไม่ต่างจากเดิม
9.การกำหนดหน้าที่รับผิดชอบในตำแหน่งที่มีอายุงานในตำแหน่งงาน ต้องบอกได้ว่าช่วงปีไหน พนักงานต้องทำหน้าที่อะไรให้กับองค์กรบ้าง เช่น 1-2 ปีแรกที่อยู่ในตำแหน่งต้องทำอะไรบ้าง ปีที่ 3-4 ต้องทำอะไรเพิ่มให้กับองค์กรบ้าง และปีต่อๆไปต้องทำอะไรเพิ่มเติมบ้าง
10.ในตำแหน่งงานที่มีฟังก์ชั่นงานจำกัด ยุคปัจจุบันนี้ ต้องเลิกยึดติดกับหน้าที่รับผิดชอบเดิมๆที่เคยเป็น ต้องมีการมอบหมายให้พนักงานรับผิดชอบหน้าที่อื่นๆ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ขอบเขตของตำแหน่งเดิมๆที่เราคุ้นเคย อย่ายึดติดกับชื่อตำแหน่ง ว่าพนักงานตำแหน่งนั้นต้องทำงานเฉพาะฟังก์ชั่นนั้น
11.ต้องชี้แจงให้พนักงาน ในการวางหน้าที่ความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นในแต่ละปี เพราะเราต้องขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานทุกปีทุกปี ถือว่าวินๆกับทุกฝ่าย เพราะถ้าพนักงานไม่สามารถสร้างคุณค่าเพิ่มได้ บริษัทก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านทรัพยากรบุคคลเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้งานเพิ่มขึ้น
12.ทำระบบที่สามารถเปรียบเทียบความแตกต่างของหน้าที่รับผิดชอบของพนักงานในยศที่ต่างกันให้เห็นได้ชัด เช่น ในตำแหน่งเดียวกันพนักงานระดับ 3 และระดับ 4 และระดับถัดไป ต้องรับผิดชอบอะไรต่างกัน เพราะอย่าลืมว่าผลตอบแทนเราให้มากขึ้นในพนักงานแต่ละระดับ
13.ระวัง อย่าติดกับดัก ของคำว่าพนักงานมีประสบการณ์มากขึ้นเมื่ออายุงานมากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านั้นจับต้องได้ยาก วัดคุณค่าเพิ่มได้ยากในทางปฏิบัติ ต่างจากการกำหนดหน้าที่รับผิดชอบหรือขอบเขตการทำงานที่เพิ่มขึ้น เพราะการกำหนดแบบนี้สามารถบอกได้ชัดเจนว่าพนักงานทำคุณค่าเพิ่มอะไรให้กับบริษัทแค่ไหน
14.หากบริษัทบริหารความคุ้มค่าของพนักงานไม่ได้ ก็หมายถึงเราขึ้นเงินเดือนให้ค่าอายุงาน หรือจ่ายค่าความแก่ของพนักงานนั่นเอง
15.พนักงานสร้างคุณค่าเพิ่มทุกปี บริษัทก็ควรจะจ่ายเงินเพิ่มให้สมกับคุณค่างานที่เพิ่มขึ้นอย่างวินๆ หากองค์กรใด สื่อสารกันแล้ว ผู้บริหารหรือพนักงานมองว่าสิ่งนี้ไม่แฟร์ ก็อาจจะสะท้อนวัฒนธรรมขององค์กรที่อาจจะเป็นอุปสรรคของการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
—-----------------------
อ.ราเชนทร์ พันธุ์เวช

 
 
  Date:  21/8/2566 15:14:54